ประวัติและแนวคิด

โรงเรียนวรพัฒน์ ตั้งอยู่ในพื้นที่ชุมชนคลองเรียน ๒ เป็นโรงเรียนในสังกัด สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๓๓ เปิดสอนในระดับเตรียมอนุบาล จนถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖

คำว่า “วรพัฒน์” ตั้งขึ้นโดยผู้ก่อตั้งโรงเรียน นายถวิล  ชูกำเนิด และ นางเสาวณีย์  พัฒโณ หมายถึง การพัฒนาที่เป็นเลิศ ซึ่งในรุ่นต่อมาได้ให้ความหมายเพิ่มเติมว่า ความเป็นเลิศต้องเกิดจากการพัฒนาที่ไม่หยุดยั้ง ดังนั้นคำว่า “วรพัฒน์” จึงหมายถึง การพัฒนาที่ไม่หยุดยั้ง

โรงเรียนวรพัฒน์เป็นโรงเรียนทางเลือก มุ่งจัดการเรียนรู้ที่หลากหลาย เปิดโอกาสและส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เลือกในสิ่งที่สนใจ ด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่เน้นให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง ให้ครูผู้สอน ผู้เรียน และผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้

โรงเรียนวรพัฒน์ใช้รูปแบบการสอนที่ทันสมัยสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคม ผู้บริหาร ครูผู้สอนและบุคลากรทางการศึกษาทำงานเป็นทีมเพื่อจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นช่องทางให้ผู้เรียนได้แสดงศักยภาพ ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพทั้งผู้เรียนรวมไปถึงครูผู้สอนและบุคลากร ตามวิสัยทัศน์ของโรงเรียนที่เป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

โรงเรียนวรพัฒน์สร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมและช่วยให้ผู้เรียนได้ค้นพบศักยภาพของตนเองผ่านสื่อ กิจกรรม พื้นที่การเรียนรู้ที่เหมาะสมกับวัยของผู้เรียนตั้งแต่ระดับปฐมวัย ไปจนถึงระดับประถมศึกษา เช่น

สนาม BBL (Brain-Based Learning) เป็นสนามเด็กเล่นตามหลักการพัฒนาสมอง ช่วยในการพัฒนาสมรรถภาพทางกายของเด็กปฐมวัย, สนามเด็กเล่น, สนามบาสเกตบอล, แปลงสาธิตการเกษตร. สระว่ายน้ำ. ศูนย์การเรียนรู้ Warraphat Learning Sphere ห้องสื่อสารสนเทศ ห้องดนตรี ห้องศิลปะ

ครูผู้สอนมีความสามารถที่หลากหลาย เช่น สามารถสื่อสารได้มากกว่า ๑ ภาษา ครูผู้สอนชาวไทยสามารถทำงานร่วมกับครูผู้สอนชาวต่างชาติได้อย่างดี มีความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบสื่อและกิจกรรมที่เหมาะสมกับผู้เรียนในแต่ละชั้น มีความสามารถทางดนตรี ศิลปะ สามารถผลิตสื่อให้กับผู้เรียนได้อย่างหลากหลายและทันสมัย และมีความรู้ทางโภชนาการที่เป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมการเจริญเติบโตของผู้เรียน

โรงเรียนได้เตรียมความพร้อมในทุกด้าน และพัฒนานวัตกรรมรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่ทันสมัย เช่น BBL (Brain-Based Learning), PBL (Problem Based Learning), PA (Project Approach), OA (Open Approach), LS (Lesson Study), บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย, หลักสูตรจังหวะก้าวเพลินปัญญา, กิจวัตพัฒนานิสัยที่ดีงาม และการใช้หลักอิทธิบาท ๔ ในการเรียนสุนทรียะ

โรงเรียนได้รับความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญทั้งจากระดับโรงเรียนและระดับอุดมศึกษา เช่น ความร่วมมือด้านเครือข่ายนวัตกรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยทักษิณ และมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา

อีกทั้งมีส่วนร่วมในเครือข่ายโรงเรียน เช่น โรงเรียนลำปลายมาศ กลุ่มเบญจมิตร บวก๑ กลุ่มศุภมิตร ความร่วมมือจากต่างประเทศ เช่น ประเทศมาเลเซีย ประเทศอินโดนีเซีย

เครือข่ายด้านศาสนา เช่น วัดคลองเรียน มัสยิด โบสถ์ และเครือข่ายชุมชนใกล้เคียง เช่น ชุมชนคลองเรียน ๒ โรงพยาบาลราษฎร์ยินดี โรงพยาบาลหาดใหญ่ ห้างสรรพสินค้าไดอาน่า และห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล หาดใหญ่

 

ปรัชญาทางการศึกษาของสถานศึกษา (Philosophy)

วรพัฒน์นวสิกขา: การศึกษาสมัยใหม่ เพื่อความเจริญงอกงามของชีวิตและสังคม

“วร” แปลว่า ประเสริฐ

“พัฒน์” แปลว่า การพัฒนา

“นว” แปลว่า ใหม่

“สิกขา” แปลว่า การศึกษา

“วรพัฒน์นวสิกขา” มีรากฐานการพัฒนามาจากปรัชญาพิพัฒนาการนิยม (Progressivism) ปรัชญาปฏิรูปนิยม (Deconstructivism) ทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ (Constructivist Theory) และทฤษฎี Social Constructionism เป็นมิติใหม่ของการจัดการศึกษาที่ผู้เรียน ผู้ปกครอง และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเห็นพ้องต้องกันว่าต้องการพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ การค้นหาและการลงมือทำในสิ่งที่มีความหมายกับชีวิต สิ่งจำเป็น สิ่งที่ชอบและสิ่งที่ใช่ พื้นที่ที่เปิดกว้างทางความคิด ไร้กรอบ แต่ยังคงกติกา เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ลงมือทำอย่างจริงจังด้วยตนเอง เอื้อสิ่งที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ที่ไม่แปลกแยกจากชีวิตจริงในศตวรรษที่ ๒๑

นิยามการศึกษาสมัยใหม่ของโรงเรียนวรพัฒน์ คือ วิชาการสมัยใหม ที่มุ่งเน้นไปที่การสร้างเด็ก ๆ ของโรงเรียนวรพัฒน์ให้มีสมรรถนะหลักสำคัญ มีความรู้ความเข้าใจ มีสุนทรียะ มีทักษะชีวิต ไปอย่างพร้อมเพรียง และตั้งมั่นว่าเด็กวรพัฒน์มีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นคนรักการเรียนรู้ มีความเป็นนวัตกร มีความเป็นพลเมืองและพลโลกที่นำตนเองให้เกิดปัญญามีจิตจริยธรรมในศตวรรษที่ ๒๑

แนวคิดหลักในการพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบยึดโยงกับการพัฒนาโรงเรียนสู่องค์กรแห่งนวัตกรรมการศึกษา

องค์กรแห่งนวัตกรรมการศึกษา หมายถึง สถานศึกษาที่มุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนคุณลักษณะหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมขององค์กร ให้ตอบสนองต่อบริบทการเปลี่ยนแปลงในยุคโลกาภิวัตน์ที่มีความรู้และนวัตกรรมเป็นปัจจัยหลักในการเพิ่มคุณค่าและมูลค่า

โดยมุ่งเน้นให้ผู้บริหาร ครูผู้สอนและบุคลากรทางการศึกษาทุกระดับและทุกงานคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่อยู่เสมอ สร้างความเปลี่ยนแปลงด้านกระบวนการ วิธีการและเครื่องมือใหม่ ๆ ช่วยให้การจัดการการเรียนรู้มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยการใช้ประโยชน์จากการเชื่อมโยงใช้ข้อมูลความรู้ด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศทั้งภายในองค์กรและเครือข่ายภายนอกองค์กรสองภาคส่วนสำคัญ

หลักสูตรสถานศึกษา Active and green เน้นการพัฒนาผู้เรียนนำตนเองให้เกิดปัญญาและมีจิตจริยธรรม มีคุณลักษณะสำคัญ ๓ ประการ ดังภาพ

๑. Active and Green Learner คือ ผู้เรียนที่นำตนเองให้เกิดปัญญาและมีจิตจริยธรรม มีคุณลักษณะสำคัญ ๓ ประการ คือ

    • การเป็นผู้เรียนที่มีพฤติกรรมรักการเรียนรู้

    • การเป็นผู้เรียนที่มีเครื่องมือในการเรียนรู้เป็นของตนเอง

    • การเรียนรู้สู่การปฏิบัติที่ส่งผลต่อการบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ตนเองวางไว้ด้วยสมรรถนะแห่งตนและมีผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ที่ดี มีทักษะการคิดขั้นสูงอย่างมีคุณธรรม มีความสามารถในการนำและกำกับการเรียนรู้ของตนเองอย่างมีเป้าหมาย

๒. Active and Green innovator คือ นวัตกรที่นำตนเองให้เกิดปัญญาและมีจิตจริยธรรม ปรับเปลี่ยนการเรียนรู้สู่การพัฒนาคุณภาพผู้เรียนเป็นผู้สร้างสรรค์นวัตกรรม ด้วยการปรับเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างแรงบันดาลใจ มีความมุ่งมั่น เพื่อให้มีชีวิตอยู่อย่างมีพลังและมีความหมาย (Purposeful Learning) การปรับเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อบ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์ และความสามารถในการรังสรรค์นวัตกรรม ใหม่ๆ (Generative Learning) การปรับเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อปลูกฝังจิตสาธารณะ ยึดประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง (Mindful Learning) และการปรับเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อมุ่งการทำงานให้เกิดผลสัมฤทธิ์ (Result-Based Learning)

๓. Active and Green citizen คือ การเป็นพลเมืองที่นำตนเองให้เกิดปัญญาและมีจิตจริยธรรมทั้งความเป็นพลเมืองและพลโลก การพัฒนาหลักสูตรดำเนินการควบคู่กับการพัฒนาบุคลากรโดยเครื่องมือสำคัญ คือ การสร้างชุมชนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาวิชาชีพภายในโรงเรียน และใช้นวัตกรรม Lesson study เป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาบุคลากรและพัฒนาคุณภาพชั้นเรียน

    • การจัดการเรียนรู้ในระดับปฐมวัย เน้นให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านการจัดประสบการณ์ในรูปแบบของหน่วยบูรณาการ

    • การจัดการเรียนรู้ระดับประถมศึกษา จัดแบ่งออกเป็น ๓ กลุ่ม คือ กลุ่มสาระการเรียนรู้หลัก กลุ่มวิชาบูรณาการ และกลุ่มโปรแกรมเสริมหลักสูตรสร้างทางเลือกให้กับนักเรียน

“อาคารวรพัฒน์นวสิกขา” เกิดขึ้นมาพร้อมการออกแบบ learning platform ที่เลือกได้หลากหลายไม่เพียงใช้สถาปัตยกรรมเพื่อการเรียนรู้กับการตกแต่งทางกายภาพ แต่หมายรวมถึงความเป็นพลวัตในการเอื้อและจัดการเรียนรู้ภายในสถานที่แห่งนี้ “Warraphat Learning Sphere” ให้ความหมายถึงการเรียนรู้ที่หมุนไปคล้ายทรงกลมไม่มีที่สิ้นสุด และผู้เรียนมีสิทธิเลือกได้ด้วยตนเอง ประกอบไปด้วย

๑. Reading Sphere เพื่อบ่มเพาะนิสัยรักการอ่านและหล่อเลี้ยงความรักการเรียนรู้

๒. Language Sphere ศูนย์ภาษาต่างประเทศที่นอกจากจะมีหนังสือแล้วยังมี Board Game พัฒนาภาษา และDigital learning Platform Little bridge และอื่น ๆ เพื่อช่วยพัฒนาภาษาอังกฤษ และทำได้ด้วยตนเอง

๓. Math – Science – Coding – Robotics Sphere ทดลองวิทยาศาสตร์ เขียน code เล่นกับหุ่นยนต์ ค้นคว้าเรื่องราวเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์แขนงต่าง ๆ

๔. Art Sphere การออกแบบในลักษณะแกลอรี่ให้เด็กที่รักการสร้างสรรค์งานศิลปะในแนว more than art สร้างเสริมธรรมะแห่งความสำเร็จ อิทธิบาท 4 ตรงนี้ได้อย่างดี

๕. Media Lab and Studio ตอบสนองเด็กในยุคดิจิทัล กับการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพออกสู่สังคมในรูปแบบที่ทันสมัยและทันใจ

๖. ศูนย์ดนตรีสากล ดนตรีไทย และศิลปะการแสดง คือ ด้วยความตั้งใจตั้งแต่ยุคก่อตั้งว่าเด็กวรพัฒน์ทุกคนต้องเล่นเครื่องดนตรีไทยหรือสากลได้อย่างเลิศ อย่างน้อยคนละ ๑ เครื่องดนตรี

การวิจัยและพัฒนานำเอาสถาปัตยกรรมเพื่อการเรียนรู้มาใช้ภายในโรงเรียนอย่างเป็นระบบ ส่งผลให้การพัฒนา Ecology of education สอดคล้องกับการนำหลักสูตรการศึกษาสู่การปฏิบัติ อีกทั้งการสร้างทางเลือกในการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนรายบุคคลในรูปแบบ Warraphat learning sphere ที่นักเรียนสามารถเลือกเรียนได้มากกว่า ๗๐ โปรแกรมตามความสนใจและมุ่งมั่นที่จะพัฒนาไปสู่ความสามารถและเชี่ยวชาญเฉพาะทาง

วิสัยทัศน์ (Vision) ของสถานศึกษา

โรงเรียนวรพัฒน์เป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาสมัยใหม่ที่สร้างสมรรถนะผู้เรียน กล้าเผชิญการเปลี่ยนแปลง เพื่อความเจริญงอกงามของชีวิตและสังคม

พันธกิจ (Mission) ของสถานศึกษา

    • ด้านที่ ๑. สร้างสรรค์การศึกษาสมัยใหม่ นวัตกรและนวัตกรรม

    • ด้านที่ ๒. พัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะแอ็คทีฟแอนด์กรีน (Active & Green)

    • ด้านที่ ๓. สร้างและพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์ม (Digital Platform) สำหรับการเรียนรู้และการบริหารจัดการ

    • ด้านที่ ๔. สร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้บ่มเพาะผู้เรียนให้มีสมรรถนะพื้นฐานและสมรรถนะแห่งตน

    • ด้านที่ ๕. สร้างระบบนิเวศเพื่อการเรียนรู้แบบแอ็คทีฟแอนด์กรีน (Active & Green)

คุณลักษณะของผู้เรียนอันเป็นจุดมุ่งหมายของหลักสูตร

โรงเรียนวรพัฒน์มีความมุ่งมั่นพัฒนาสู่การเป็นโรงเรียนแห่งนวัตกรรมที่มุ่งเน้นการจัดการศึกษาสมัยใหม่ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ ๒๑ บนพื้นฐานความเชื่อว่าผู้เรียนแต่ละคนมีศักยภาพภายในตนเอง มีความแตกต่าง โรงเรียนมีหน้าที่บ่มเพาะ เอื้ออำนวย ส่งเสริมช่วยเหลือ และพัฒนาให้ผู้เรียนค้นพบศักยภาพและสิ่งที่ใช่สำหรับตนเอง จึงได้พัฒนา “หลักสูตรสถานศึกษาโรงเรียนวรพัฒน์แอ็คทีฟแอนด์กรีน (Active and Green)” โดย Active หมายถึง การนำตนเองให้เกิดปัญญา และ Green หมายถึง การสร้างคุณค่าแท้และจริยธรรม โรงเรียนได้ศึกษาแนวคิดการศึกษาสมัยใหม่ที่เน้นการศึกษาแบบองค์รวม (Holistic Education) ที่เคารพความเป็นมนุษย์และเคารพความแตกต่างของผู้เรียนแต่ละคน ออกแบบหลักสูตรที่ไม่เน้นเพียงวิชาการแต่เน้นการพัฒนาสมรรถนะที่จำเป็น (Competency-based curriculum) การเสริมสร้างประสบการณ์ (Activities and experience curriculum) การบูรณาการสิ่งที่เรียนรู้เชื่อมโยงกับชีวิตและสังคมรอบตัว (Integrated social process and life function curriculum) การเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพตามหนทางที่ตนเองถนัดและสนใจ (Individual curriculum) การดูแลช่วยเหลือ ส่งเสริมความเป็นพิเศษของแต่ละบุคคล (Personalized curriculum) การเป็นพลเมืองในโลกดิจิตอล (Media Information and Digital Literacy curriculum) และการตระหนักรู้ เข้าใจ รัก ธำรงไว้ซึ่งรากเหง้าและถิ่นฐานบ้านเกิดของตน ซึ่งมีองค์ประกอบการพัฒนาผู้เรียนที่สำคัญ ๓ ประการ ดังนี้

๑. คุณลักษณะ Active and Green Learner ผู้เรียนมีคุณลักษณะ ๓ ประการ ดังนี้ มีพฤติกรรมรักการเรียนรู้ มีเครื่องมือในการเรียนรู้ และบรรลุเป้าหมายที่ตนเองตั้งไว้ สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของหลักสูตรฐานสมรรถนะ การสื่อสารอย่างฉลาดรู้ สร้างสรรค์ มีพลัง ด้วยความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม การจัดระบบและกระบวนการทำงานให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมาย มีความเป็นผู้ประกอบการ ภาวะผู้นำ และจัดการความขัดแย้งภายใต้สถานการณ์ที่มีความซับซ้อน เข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับปรากฏการณ์ของโลกและจักรวาล เข้าถึงและรู้เท่าทันวิทยาการเทคโนโลยีเพื่อการดำรงชีวิตและอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน

๒. คุณลักษณะ Active and Green innovator การพัฒนาผู้เรียนให้มีความเป็นนวัตกร สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของหลักสูตรฐานสมรรถนะ เข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับปรากฏการณ์ของโลกและจักรวาล เข้าถึงและรู้เท่าทันวิทยาการเทคโนโลยีเพื่อการดำรงชีวิตและอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน

๓. คุณลักษณะ Active and Green citizen ผู้เรียนมีคุณลักษณะเป็นพลเมืองที่มีปัญญาและมีจริยธรรม สอดคล้องจุดมุ่งหมายหลักสูตรฐานสมรรถนะ สื่อสารอย่างฉลาดรู้ สร้างสรรค์ มีพลัง ด้วยความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม ปฏิบัติตนอย่างรับผิดชอบ มีคุณธรรม จริยธรรม ในฐานะพลเมืองไทยและพลโลก

โรงเรียนวรพัฒน์มีเป้าหมายพัฒนาผู้เรียนสู่การเป็นผู้เรียนที่สามารถนำตนเองให้เกิดปัญญาเป็นผู้เรียนที่เข้าถึงคุณค่าแท้และจริยธรรม พัฒนาผู้เรียนสู่การนำตนเองให้เกิดปัญญามีความเป็นนวัตกรที่เข้าถึงคุณค่าแท้และจริยธรรมของการเป็นนวัตกร พัฒนาผู้เรียนสู่การนำตนเองให้เกิดปัญญามีความเป็นพลเมืองท้องถิ่น ภูมิภาค  ประเทศและโลกที่เข้าถึงคุณค่าแท้และจริยธรรมของความเป็นพลเมือง โรงเรียนวรพัฒน์ให้ความสำคัญในการนำหลักการเรียนรู้แบบนำตนเอง (Active Learning) เป็นพื้นฐานในการออกแบบหลักสูตร จัดประสบการณ์ จัดการเรียนรู้และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เน้นการพัฒนาสมรรถนะของสมอง (Executive Function: EF) เพื่อพัฒนาพื้นฐานการคิดและการใช้ชีวิตที่สำเร็จ โดยมีเป้าหมายให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะหลักที่จำเป็นสำหรับการทำงาน การแก้ปัญหา และการดำรงชีวิต

การกำหนดสมรรถนะหลักของโรงเรียน (School Core Competency)

ระดับอนุบาล

    • สมรรถนะที่ ๑ เด็กมีความรู้ ทักษะพื้นฐานในการใช้งานวัสดุอุปกรณ์ และมีอิสระในการออกแบบชิ้นงานอย่างสร้างสรรค์ มีความภาคภูมิใจต่อผลงานของตนเองและชื่นชมยินดีต่อผลงานของผู้อื่น

    • สมรรถนะที่ ๒ เด็กมีนิสัยที่ดีงาม ในการปฏิบัติต่อตนเอง ผู้อื่น สังคม สาธารณะสมบัติ และสิ่งแวดล้อม

    • สมรรถนะที่ ๓ เด็กสื่อสารอย่างเป็นธรรมชาติ มั่นใจ ได้อย่างน้อย 2 ภาษา มีความเข้าใจวัฒนธรรม รวมถึงรับผิดชอบต่อการสื่อสารและแลกเปลี่ยนความคิด

    • สมรรถนะที่ ๔ เด็กปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ การเปลี่ยนแปลง และอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข

    • สมรรถนะที่ ๕ เด็กมีทักษะการคิดหลากหลาย รักในการลงมือปฏิบัติและแก้ปัญหา รับผิดชอบต่อการคิดและปฏิบัติของตนเอง ชอบงานท้าทาย มีความมุ่งมั่นอดทน ไม่ย่อท้อต่อปัญหา

    • สมรรถนะที่ ๖ เด็กรักษ์สิ่งแวดล้อม ธรรมชาติรอบตัวและการทำประโยชน์ต่อสังคม

    • สมรรถนะที่ ๗ เด็กรักการพัฒนาทักษะทางภาษา ใช้คำศัพท์ที่เรียนมาเพื่อสื่อสาร สรุปประเด็น และเชื่อมโยงเรื่องราวสู่ชีวิตจริง

ระดับประถมศึกษา

    • สมรรถนะที่ ๑ นักเรียนใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์เพื่อคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาสังคม

    • สมรรถนะที่ ๒ นักเรียนมีนิสัยที่ดีและเคารพในความแตกต่าง

    • สมรรถนะที่ ๓ นักเรียนมีความคิดบวก และสามารถปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงได้

    • สมรรถนะที่ ๔ นักเรียนกล้าคิด กล้าแสดงความคิดเห็นอย่างมีตรรกะ และสามารถแก้ไขปัญหาได้

    • สมรรถนะที่ ๕ นักเรียนมั่นใจในศักยภาพตนและพร้อมพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง

    • สมรรถนะที่ ๖ นักเรียนใช้ภาษาในการสื่อสารได้หลากหลาย และแสดงออกถึงความเป็นพลโลกในการดำเนินชีวิต

 

error: